ค่านิยมเรื่องความเป็นอารยัน

เมื่อกล่าวถึง อารยัน หรืออริยะ รู้กันว่าเป็นคนวรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ และวรรณะแพศย์ กลุ่มคนที่ไม่จัดอยู่ใน ๓ วรรณะ จึงกลายเป็นอนารยะ ถูกดูหมิ่นดูแคลน แต่อีก ๓ วรรณะ กลับได้รับการยกย่อง มีการศึกษา มีความรู้ดี ผู้มีการศึกษาดีมักอยู่ในตระกูลที่ดี อารยัน (อริยะ) คำนี้มีนัยแฝงเร้น แบ่งแยก ดูแคลน ใครท่าทางดี ดูศิวิไลซ์ ยกย่องให้เป็นอารยัน ใครไม่เข้าท่าล้าหลัง จะถูกข่มเหงกดขี่ว่าไม่ศิวิไลซ์ ไม่ใช่อารยัน

ในอดีต พราหมณ์แบ่งอารยันด้วยวิธีกำหนดอาณาเขตที่อาศัยอยู่และภาษาที่ใช้ จำกัดเขตอารยันว่าจะต้องเกิดในดินแดนที่ตนกำหนดไว้ คือ ทิศตะวันออกแถบภูเขาอาธรศะ ทิศตะวันตกติดป่ากาลกะ ทิศใต้ติดภูเขาหิมาลัย ทิศเหนือติดภูเขาวินธัย อาณาเขตที่ถูกกำหนด เป็นดินแดนไม่กว้างนักหากเทียบกับพื้นที่ชมพูทวีปทั้งสิ้น อยู่ภาคกลางขึ้นไปด้านเหนือ

ศาสดามหาวีระ (นิครนถ์นาฏบุตร) ของศาสนาเชน ถือกำเนิดในวรรณะกษัตริย์ อินเดียตะวันออก เกิดนอกเขตอารยันที่พราหมณ์กำหนด ศาสดามหาวีระตำหนิการยึดถือวรรณะ ถือว่ามนุษย์จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดในชีวิตได้เพราะความเพียรพยามและความมีระเบียบวินัย ศาสนาเชนแบ่งอารยันออก ๒ กลุ่ม ได้แก่ อารยันชั้นสูง กับอารยันทั่วไป แล้วแบ่งอารยันออกไปอีก (จัดโซนนิ่ง) กำหนดถิ่นที่อยู่อาศัย ชาติกำเนิด เผ่าพันธุ์ หน้าที่ อาชีพการงาน ภาษา สติปัญญา และจิตสำนึก แยกกลุ่มคนป่า (มิลักขะ) ๔๔ เขต กลุ่มอารยัน ๒๖ เขต (เชนกำหนดเขตของอารยันครอบคลุมดินแดนของอารยันที่พราหมณ์กำหนดไว้ ดูแผนที่ชมพูทวีป หากสมมติว่าเป็นฟองไข่วางในแนวนอน วงไข่แดงคือเขตอารยันของพราหมณ์ เส้นรอบวงไข่ขาวคือเขตอารยันที่เชนกำหนด)

ใส่ความเห็น